วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมและทฤษฎีความยุติธรรม

1. แนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism)
             แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมเป็นทฤษฎีที่มีหลักคิดพื้นฐานมาจากแนวคิดสุขนิยมที่เป็นทฤษฎีที่มีมาก่อน[1] คำว่าสุขนิยมมาจากภาษากรีกคือคำว่า hedone”  ซึ่งหมายถึงความพอใจ สุขนิยมทางจริยธรรมมีทัศนะที่ว่าความพอใจและความเดือดร้อนคือเกณฑ์วัดผลที่ว่าการกระทำใดถูกหรือผิด[2]     โดยเบ็นแธม (Jeremy Bentham [1748-1832]) ถือว่าเป็นนักปรัชญาการเมืองผู้ให้กำเนิดแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม เขาได้เสนอหลักจริยธรรมที่ว่าการกระทำที่ดีที่สุดคือการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด (The greatest happiness of the greatest number) หลักการของอรรถประโยชน์คือหลักการที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการกระทำใดก็ตาม ตามแนวโน้มที่ปรากฎว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลดความสุขของคู่กรณีที่ผลประโยชน์ของเขากลายเป็นประเด็นปัญหา[3] หรือข้อพิพาทขึ้นมา
             
               “อรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ของเบ็นแธมบ่งชี้ถึงทัศนะว่าการกระทำใดจะถูกต้องหรือผิดขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อว่าผลลัพธ์ของการกระทำนั้นดีหรือเลว สำหรับเบ็นแธม “ดี” และ “เลว” หมายถึงความพึงพอใจหรือความเดือดร้อนที่เกิดจากประสบการณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคล[4] เนื่องจากเบ็นแธมยึดถือทฤษฎีสุขนิยมทางจิตวิทยา ความพึงพอใจและความเดือดร้อนจึงเป็นแรงจูงใจของพฤติกรรมทั้งหมด   โดยเขามีทัศนะที่ว่า “ความสุขของมนุษย์ไม่อาจถูกกำหนดได้ด้วยการอ้างถึงสิ่งที่ดีงามที่เป็นวัตถุวิสัยหรือสิทธิตามธรรมชาติต่าง ๆ อย่างที่ได้แถลงไว้ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกันหรือในคำประกาศของฝรั่งเศสว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง”[5] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเบ็นแธมปฏิเสธเรื่องสิทธิธรรมชาติหรือกฎแห่งธรรมชาติ โดย “เขาสันนิษฐานว่าเบื้องหลังการเรียกร้องทั้งปวงต่อสิ่งเหล่านี้คือผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัวทั้งหลายที่ซ่อนเร้นไว้อย่างดี หรือเก็บไว้ไม่มิดชิด เขาคิดว่าหลักการเรื่องอรรถประโยชน์จะเตือนเราอยู่ตลอดเวลาว่าข้อเสนอต่าง ๆ ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากบรรดาบุคคลที่มีผลประโยชน์ที่บอกได้ และในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้เราประเมินมันด้วยการถอยห่างออกมาตามทัศนะของหลักการเรื่องความสุขสูงสุด[6]      ทังนี้ เบ็นแธมเห็นว่าสิทธิไม่อาจมีความหมายแยกไปต่างหากจากอรรถประโยชน์
           
               เมื่อนำทฤษฎีของเบ็นแธมมาปรับใช้กับศิลปะในการบัญญัติกฎหมาย จะทำให้เห็นถึงแนวคิดของเบ็นแธมที่มองเป้าหมายทั่วไปของกฎหมายมีขึ้นเพื่อเพิ่มความสุขทั้งหมดของประชาชนจากข้อความที่ขอยกมาดังนี้  
       
            “เป้าหมายโดยทั่วไปที่กฎหมายทั้งปวงมี หรือควรที่จะมีร่วมกัน ได้แก่ การเพิ่มพูนความสุข         ทั้งหมดของประชาคมเพื่อกีดกันทุกสิ่งที่มีแนวโน้มที่จะลดทอนจากความสุขนั้น เพื่อ   กีดกันความเสียหายออกไป                                        
          แต่การลงโทษทั้งปวงคือความเสียหาย การลงโทษทั้งปวงโดยตัวของมันเองคือความชั่ว ตาม    หลักการเรื่องอรรถประโยชน์การลงโทษควรที่จะเป็นที่ยอมรับกันเฉพาะต่อเมื่อมันให้      สัญญาว่าจะกันความชั่วร้ายบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าออกไป”[7]

             ทัศนะของเบ็นแธมที่มีต่อการร่างกฎหมายตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และมีการกล่าวถึงในการนำไปใช้ร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยผู้เขียนขอยกมาเป็นภาษาอังกฤษดังนี้    


            No law can ever be made but what trenches upon liberty: if it stops there, it is so         much pure evil: if it is good upon the whole, it must be in virtue of something that       comes after. It may be a necessary evil: but still at any rate it is an evil. To make a    law is to do evil that good may come.”[8]

             การออกกฎหมายใดก็ตามย่อมมีนัยยะว่าจะต้องรุกล้ำหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม  มันอาจจะเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็นซึ่งนำไปสู่สิ่งที่ดี  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า หากว่าสิ่งที่ดีเกินกว่าความเสียหายหรือภัยอันตรายก็ถือว่ายอมรับได้
          
             ความพึงพอใจ (pleasures) และความเดือดร้อน   (pains) จึงกลายเป็นเครื่องมือที่นักกฎหมายนำมาใช้ในการร่างบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งเบ็นแธมได้เสนอหลักพิจารณาว่ามี 7 พฤติการณ์ที่แวดล้อม (circumstances) ซึ่งนำมาใช้กำหนดคุณค่าความพึงพอใจหรือความเดือดร้อน[9]    ได้ดังนี้
(1)   ความเข้มข้น (intensity)
(2)   ช่วงเวลา (duration)
(3)   ความแน่นอนหรือไม่แน่นอน (certainty or uncertainty)
(4)   ความใกล้ชิดหรือห่างไกล (propinquity or remoteness)
(5)   ผลอันเกิดจากความพึงพอใจหรือความเดือดร้อนนั้น (fecundity)
(6)   ความปราศจากผลที่จะตามมา (purity)
(7)   การขยายผลสู่ประชาชนจำนวนมาก (extent)

             การสร้างหลักเกณฑ์ประเมินความพึงพอใจและความเดือดร้อนเช่นนี้ทำให้มีนักวิชาการหลายคนมองว่าเบ็นแธมใช้หลักการวิเคราะห์เชิงประมาณมากเกินไป   โดยจากการพิจารณาถึงแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งคือการมุ่งเน้นความสุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ซึ่งมีเสียงวิพากษ์จากนักวิชาการหลายคนว่าไม่เห็นประเด็นทางจริยธรรมและการอธิบายอรรถประโยชน์ในเชิงปัจเจกบุคคล ต่างจากจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill, [1806-73])                            
            
             มิลล์ได้พัฒนาแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมโดยเน้นในเรื่องศีลธรรมมากกว่ากฎ   กล่าวอีกนัยหนึ่ง  แนวคิดอรรถประโยชน์นิยมของมิลล์มุ่งเน้นความสุขเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องเหมาะสมกับศีลธรรมเนื่องจากประชาชนปรารถนาเช่นนั้นจริง ๆ[10]    โดยมิลล์ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของเบ็นแธมที่เชื่อว่าหลักการอรรถประโยชน์เป็นไปไม่ได้ที่จะต้องพิสูจน์ และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์[11] และเสนอความเห็นที่ให้ความสำคัญกับความสุขของปัจเจกบุคคล และความสุข “ทั่วไป” (general happiness) เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาดังนี้

            เหตุผลที่ว่าทำไมความสุขทั่วไปเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาไม่สามารถให้เหตุผลได้เว้นแต่ว่าบุคคล    แต่ละคนปรารถนาความสุขของตัวเขาเองตราบเท่าที่เขาเชื่อว่าสามารถบรรลุความปรารถนา       นั้นได้ อย่างไรก็ตาม นี่คือความจริง เราไม่เพียงแต่มีข้อพิสูจน์ทั้งหมดที่ซึ่งแต่ละกรณี   ยอมรับ แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ที่ต้องการให้ความสุขเป็นเป้าหมายร่วมกัน ความสุขแต่ละคน     เป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนนั้น และดังนั้น ความสุขทั่วไปก็เป็นสิ่งที่ดีที่เป็นผลรวมของบุคคล   ทุกคน”[12]

            เจตนารมณ์ของมิลล์ในที่นี้แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของอรรถประโยชน์เป็นเป้าหมายที่สมเหตุผลสำหรับผู้กระทำการแต่ละคน (individual agent)  อย่างไรก็ตาม การนำหลักความคิดนี้ไปปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์อาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไปว่าสามารถที่จะทำให้บรรลุความสุขของแต่ละบุคคลได้หรือไม่หากว่ามีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางประการที่จะต้องทำให้เลือกตัดสินใจว่าความสุขของกลุ่มบุคคลหนึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่อีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง
            เนื่องจากแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทหรือหลายลักษณะ ในที่นี้จะขอแบ่งอรรถประโยชน์นิยมที่มักกล่าวกันโดยทั่วไปออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
(1)         อรรถประโยชน์นิยมแบบการกระทำ (act-utilitarianism)  เป็นแนวคิดที่พิจารณาความถูกผิดที่ผลของการกระทำแต่ละครั้งเป็นสำคัญ   
(2)         อรรถประโยชน์นิยมแบบกฎ (rule-utilitarianism) เป็นแนวคิดที่เชื่อว่ามีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ดีและพิจารณาความถูกผิดจากการกระทำตามกฎเกณฑ์นั้น ๆ
            เวสท์ (Henry R. West)  ได้กล่าวถึงมิลล์ว่ามิลล์ไม่ได้เป็นทั้งนักทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมแบบการกระทำหรือแบบกฎ

            กล่าวอีกนัยหนึ่ง เขามองว่าถ้าตีความในแบบของการให้เหตุผลทางศีลธรรมตามอรรถประโยชน์นิยม  มิลล์ก็เป็นทั้งสองแบบ กล่าวคือในกรณีที่เกี่ยวกับหลักศีลธรรม     มิลล์ต้องการที่จะใช้หลักเกณฑ์อรรถประโยชน์นิยมแบบกฎโดยเห็นว่าหลักศีลธรรมคู่ขนานไปกับหลักกฎหมายเพียงแต่มีบทลงโทษที่เป็นทางการน้อยกว่า  ในอีกด้านหนึ่ง เวสท์ ก็เห็นว่ามิลล์ได้ใช้หลักเกณฑ์อรรถประโยชน์นิยมแบบการกระทำซึ่งมีระดับของความยืดหยุ่น[13]    ทั้งนี้ หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะกำหนดให้ใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากหลักการความสุขสูงสุดเป็นสำคัญ วิธีการที่แตกต่างก็จะมีความเหมาะสมกับแต่ละประเด็นที่ใช้หลักศีลธรรมแตกต่างกันออกไปโดยบทลงโทษอาจจะเป็นโดยกฎหมายหรือไม่ก็โดยความเห็นสาธารณชนหรือก็โดยมโนธรรม
            
             ทัศนะของมิลล์ที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างอรรถประโยชน์กับความยุติธรรมคือว่าความยุติธรรมในความหมายทางศีลธรรมเป็นหลักการพื้นฐานเช่นเดียวกับอรรถประโยชน์ ขณะที่ความยุติธรรมของกฎหมายมักควรที่จะถูกตัดสินจากหลักเกณฑ์ของอรรถประโยชน์ (นั่นคือกฎหมายดีคือกฎหมายที่มีประโยชน์) เขาคิดว่ามันเป็นสิ่งลวงตาที่สันนิษฐานว่าอรรถประโยชน์และความยุติธรรมในความหมายทางศีลธรรมสามารถขัดแย้งกัน เพราะสิ่งหนึ่ง ๆ ไม่สามารถขัดแย้งกับตัวมันเอง[14] ตามนัยนี้ กฎหมายกับความยุติธรรมเสมือนเป็นสิ่งเดียวกันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งในความเป็นจริงประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันโดยยังไม่เป็นที่ยุติ
           
              ตามนิยามทางปรัชญา สิทธิ (rightness) เกี่ยวข้องกับการกระทำโดยสมัครใจ ขณะที่ความดี (goodness) เกี่ยวข้องกับผลของการกระทำเหล่านั้น นักอรรถประโยชน์นิยมประเมินการกระทำในนิยามของความดีอันเป็นผลจากการกระทำของพวกเขา กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับนักอรรถประโยชน์นิยม การกระทำที่ถูกต้องคือสิ่งที่นำไปสู่ผลที่ดี แม้ว่าความดีสามารถนิยามในทางอุดมคติ นักอรรถประโยชน์นิยมก็มักจะปฏิบัติตามแนวเบ็นแธม และมิลล์ และนิยามความดีว่าเป็นเรื่องของความพึงพอใจ ความสุข หรือความพอใจในแรงปรารถนา[15]  สำหรับนักอรรถประโยชน์นิยมแล้ว การกระทำที่ถูกต้องเพิ่มความสุข หรือนำไปสู่การเพิ่มอรรถประโยชน์ในระยะยาว และอาจกล่าวได้ว่าสำหรับนักอรรถประโยชน์นิยมแล้ว ความดีมาก่อนสิทธิ[16]       
           
2. ทฤษฎีความยุติธรรม (Theory of Justice)
               ในปี ค.ศ. 1999 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ให้รางวัลเหรียญมนุษยธรรมแห่งชาติ  (National Humanities Medal) แก่รอลส์ (John Rawls)  และกล่าวชื่นชมรอลส์ว่าเป็นนักปรัชญาทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20  หนังสือ “A Theory of Justice” ที่รอลส์เขียนได้กำหนดสิทธิในเสรีภาพและความยุติธรรมบนรากฐานแห่งเหตุผลใหม่ที่งดงามและมั่นคงโดยรอลส์ได้ฟื้นฟูสาขาปรัชญาทางการเมืองและจริยธรรมขึ้นใหม่[17]  ดวอร์คิน (Dworkin) กล่าวถึงรอลส์ว่ามีนักการเมืองทั่วโลกที่อ้างความคิดของรอลส์  นอกจากนี้ ผู้พิพากษาในอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ต่างทำให้ผลงานของเขาเป็นที่สนใจ จึงอาจกล่าวว่าผลงานของเขามีอิทธิพลต่อกฎหมายในหลายประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงในกฎหมายภาษีหรือกฎหมายละเมิดของอเมริกา   แต่รอลส์ไม่ได้มองว่าตนเองเป็นนักปรัชญากฎหมาย แม้ว่าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายมากมายในผลงานของเขาโดยมีการอธิบายทฤษฎีกฎหมายผ่านปรัชญาการเมืองของเขา เนื่องจากทฤษฎีกฎหมายเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญาการเมือง และรอลส์ก็ได้เขียนเกี่ยวกับสาขาวิชานั้นทั้งหมดในเชิงนามธรรมเป็นหลักนิติศาสตร์ไว้แล้ว[18] 
           
               เมื่อกล่าวถึงคำว่าความยุติธรรม พบว่ามีการนำไปใช้ในหลายกรณี ขึ้นอยู่กับคนหรือสถาบันที่ใช้ซึ่งก็จะมีเป้าหมาย หลักการและวิธีการแตกต่างกัน เช่น รัฐบาล ศาล การกระทำของปัจเจกบุคคลมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับความยุติธรรมภายใต้บริบทของตน  สำหรับรอลส์แล้ว สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือความยุติธรรมทางสังคม (social justice) ความยุติธรรมเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “โครงสร้างพื้นฐาน” ของสังคม โดยเขาเขียนไว้ว่า

            “สำหรับเรา สิ่งที่ศึกษาเป็นอันดับแรกเกี่ยวกับความยุติธรรมคือโครงสร้างพื้นฐานของสังคม      หรือกล่าวให้ชัดเจนกว่านั้น คือวิธีที่สถาบันหลักของสังคมกระจายสิทธิมูลฐานและหน้าที่   รวมถึงกำหนดการจัดแบ่งผลประโยชน์จากความร่วมมือทางสังคม” [19]

             ทฤษฎีความยุติธรรมจึงอยู่บนพื้นฐานความคิดเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ทั้งนี้ ในการทำเข้าใจพัฒนาการทางแนวคิดของรอลส์ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าทั้งหมดที่เขาแสวงหาก็เพื่อที่จะให้ได้คำตอบเกี่ยวกับอุดมคติที่เป็นจริงของความยุติธรรม (realistic ideal of justice)  ซึ่งรอลส์ เรียกว่า “realistic utopia”[20]  แนวความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมของรอลส์ ค่อนข้างเป็นอุดมคติ เพราะจะต้องวางอยู่บนเงื่อนไขของสังคมที่มีการจัดระเบียบที่ดีที่วิญญูชน (reasonable persons) มีเสรีภาพและเท่าเทียมกันโดยยอมรับแนวคิดความยุติธรรมเหมือนกันได้[21]  แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หากว่ามนุษย์ได้ทำอย่างที่ดีที่สุดตามธรรมชาติของตัวเองภายใต้เงื่อนไขปกติของชีวิตทางสังคม
           
              หลักการเกี่ยวกับความยุติธรรมเกิดขึ้นมาจากสถานะดั้งเดิม (original position) รอลส์ได้เสนอทฤษฎีความยุติธรรมโดยพัฒนามาจากแนวคิดพันธสัญญา (contractarian) ที่ถูกวางรากฐานปรัชญาการเมืองโดยฮ็อบส์ ล็อก และ
รุสโซดังคำอธิบายของรอลส์ดังนี้

            “What I have attempted to do is to generalize and carry to it higher order of        abstraction the traditional theory of the social contract as represented by Locke,      Rousseau, and Kant… Indeed, I must disclaim any originality for the views I put forward. The leading ideas are classical and well known.”[22]

             จากคำอธิบายนี้ ทำให้ทราบว่าทฤษฎีความยุติธรรมมีรากฐานมาจากแนวคิดทางปรัชญาพันธสัญญาทางสังคมดั้งเดิมนั่นเอง    โดยหลักการของรอลส์ เขามองว่าเสรีภาพเป็นหลักการพื้นฐานที่จะต้องให้ความสำคัญเบื้องต้นก่อนที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม จากประเด็นนี้เมื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมของเบ็นแธมจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกัน เบ็นแธมปฏิเสธ “เจตจำนงทั่ว” ของรุสโซ โดยมองว่าเป็น “รูปแบบสมัยใหม่ของความพยายามแต่โบราณที่จะบังคับให้ปัจเจกบุคคลต้องมี “คุณธรรม” โดยที่ต้องสูญเสียความสุขตามที่ตัวเองเข้าใจไป[23]  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงหลักความคิดพื้นฐานของแนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างทฤษฎีความยุติธรรมกับอรรถประโยชน์นิยม
           
             ในทฤษฎีความยุติธรรม รอลส์ได้นำเสนอกรอบความคิดของความยุติธรรมด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้เป็น “กฎบัตรขั้นมูลฐาน” (fundamental charter) ของสังคมที่มีการจัดระเบียบไว้ดีแล้ว (well-ordered society) ของหลักการเกี่ยวกับความยุติธรรมใช้กำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานของสังคมได้ หรือสถาบันทางสังคมหลักได้กระจายสิทธิและหน้าที่ขั้นมูลฐานรวมถึงกำหนดการจัดแบ่งผลประโยชน์จากความร่วมมือทางสังคมอย่างไร กล่าวคือหลักการแรกสร้างและทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้ ขณะที่หลักการที่สองวางกฎเกณฑ์การดำรงอยู่ของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและการเมือง  รอลส์เรียกทฤษฎีนี้ว่า “ความยุติธรรมเป็นความเที่ยงธรรม” (justice as fairness) ในบริบทของความยุติธรรมเป็นความเที่ยงธรรม สังคมที่จัดระเบียบไว้ดีแล้วเป็นตัวแทนอุดมคติของสังคมระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพลเมืองให้การยอมรับและทราบว่าผู้อื่นยอมรับกรอบความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมนี้เหมือนกัน และสถาบันพื้นฐานของพวกเขาก็ได้นำกรอบความคิดนี้ไปทำให้เกิดความพึงพอใจได้อีกด้วย[24]
           
             รอลส์ สร้างหลักการสองประการให้กับทฤษฎีความยุติธรรม สรุปความได้ดังนี้
             หลักการที่ 1  แต่ละบุคคลจะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันในระบบทั้งหมดที่ครอบคลุมโดยส่วนใหญ่ของเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียมกันโดยสอดคล้องกับระบบที่ใกล้เคียงกันของเสรีภาพสำหรับทุกคน
            หลักการที่ 2 ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจจะต้องถูกจัดเตรียมเพื่อที่ว่าให้มีผลประโยชน์สูงสุดในกลุ่มสมาชิกของสังคมที่มีโอกาสน้อยที่สุด และถูกจัดเตรียมไว้เพื่อให้มีการผูกพันไว้กับสำนักงานและตำแหน่งที่เปิดรับทุกคนภายใต้เงื่อนไขของความเท่าเทียมกันด้านโอกาสอย่างยุติธรรม[25]
           
            รอลส์เรียกหลักการแรกว่าเป็น “หลักการเสรีภาพ” (liberty principle) ขณะที่ส่วนแรกของหลักการที่สองเรียกว่า “หลักการความแตกต่าง” (difference principle) และส่วนที่สองของหลักการที่สองเรียกว่า “หลักการโอกาสที่เท่าเทียมกัน” (equal opportunity principle) โดยรอลส์กล่าวต่อไปว่าคู่กรณี (parties) จะต้องตกลงในกฎสองลำดับนี้ก่อนเมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ทั้งนี้ กฎลำดับแรกว่าด้วยหลักการเสรีภาพย่อมมาก่อนหลักการที่สองเกี่ยวกับความยุติธรรม นั่นหมายความว่าเสรีภาพถูกให้หลักประกันว่าไม่สามารถที่จะสละให้แก่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้นั่นเอง  ตามมาด้วยกฎลำดับที่สอง หลักการโอกาสที่เท่าเทียมกันย่อมมีความสำคัญเหนือกว่าหลักการความแตกต่าง[26]
           
             ต่อมา รอลส์ ได้ปรับหลักการสองประการดังกล่าวมาแล้วใหม่อีกครั้งเป็นดังนี้
             หลักการที่ 1  แต่ละบุคคลมีข้อเรียกร้องที่เท่าเทียมกันในนโยบายแผนการด้านสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันอย่างพอเพียงโดยสมบูรณ์ ซึ่งแผนนั้นสอดคล้องกับแผนเดียวกันที่มีไว้สำหรับทุกคน และในแผนเสรีภาพทางการเมืองที่เท่าเทียมกันเท่านั้นจะต้องได้รับประกันคุณค่าอย่างยุติธรรม
             หลักการที่ 2 ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจจะต้องทำให้บรรลุสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรก  ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจจะต้องผูกพันไว้กับตำแหน่งและสำนักงานที่เปิดรับสำหรับทุกคนภายใต้เงื่อนไขความเท่าเทียมกันด้านโอกาสอย่างยุติธรรม  เงื่อนไขที่สอง จะต้องให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดในกลุ่มสมาชิกของสังคมที่มีโอกาสน้อยที่สุด
           
               จึงอาจสรุปหลักการสองประการนี้ว่าเป็นหลักการที่แสดงถึงการสร้างแนวคิดทั่วไปของความยุติธรรมได้ว่าสิ่งพื้นฐานทางสังคมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ โอกาส รายได้ ความมั่งคั่งและหลักการนับถือตนเองจะต้องถูกกระจายไปอย่างเท่าเทียมกันเว้นแต่การกระจายแบบไม่เท่าเทียมกันเกี่ยวกับสิ่งพื้นฐานทางสังคมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้เปรียบน้อยที่สุด[27]
            หลักการเสรีภาพ (The Liberty Principle)
            หลักการเสรีภาพกำหนดว่าทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในระบบของเสรีภาพพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน และให้นำเสรีภาพไปกำหนดไว้ในระบบเพื่อให้ครอบคลุมเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับรอลส์แล้ว เขาให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางการเมือง ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกตั้ง นอกจากนี้ เขายังเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดและการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการคิด เสรีภาพเกี่ยวกับบุคคล ซึ่งรวมถึงเสรีภาพที่ไม่ควรให้มีการกดขี่ทางจิตใจและการทำร้ายร่างกาย การให้มีสิทธิถือครองทรัพย์สินส่วนตัวและเสรีภาพจากการมิให้มีการจับกุมและยึดสิ่งของตามอำเภอใจ เป็นต้น
            หลักการดังกล่าวนี้เป็นการให้เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะต้องกระจายไปยังปัจเจกชนอย่างทั่วถึง มิเช่นนั้นแล้ว จะก่อให้เกิดการแทรกแซงเสรีภาพซึ่งกันและกันได้
          หลักการโอกาสที่เท่าเทียมกัน
            ขณะที่หลักการความแตกต่างรับประกันการกระจายแบบไม่เท่าเทียมกันที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ได้รับประโยชน์น้อยที่สุด หลักโอกาสความเท่าเทียมกันก็ต้องการให้สำนักงานและตำแหน่งซึ่งอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมเปิดกว้างรับทุก ๆ คน ทั้งนี้ โดยพื้นฐานส่วนใหญ่ หลักการโอกาสที่เท่าเทียมกันสร้างโอกาสชีวิตที่เท่าเทียมกันในทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาและวัฒนธรรม[28]
           
              หลักการแรกของรอลส์ซึ่งเป็นหลักการเกี่ยวกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน คล้ายคลึงกันกับหลักการเสรีภาพของ มิลล์  ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการนิยามข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญที่มีต่อรัฐบาลระบอบประชาธิปไตย[29]  รอลส์เรียกเสรีภาพตามหลักการแรกว่า “หลักพื้นฐาน” เนื่องจากมีความสำคัญทางศีลธรรมต่อเสรีภาพในพลเมืองระบอบประชาธิปไตยมากกว่าเสรีภาพที่ไม่มีหลักพื้นฐาน กล่าวคือ ประการแรก เสรีภาพตามหลักพื้นฐานจำเป็นที่จะต้องเจริญรอยตามหลักความคิดเกี่ยวกับความดี ประการที่สอง เสรีภาพตามหลักพื้นฐานจำเป็นต่อการนำไปใช้และการพัฒนาเกี่ยวกับอำนาจทางศีลธรรมสองอย่างที่นิยามแนวความคิดเกี่ยวกับบุคคลที่มีนัยยะอยู่ในแนวคิดประกอบสร้างนิยมของรอลส์ อำนาจทางศีลธรรมสองอย่างนั้นคือความสามารถในการเข้าใจ ประยุกต์ใช้และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการของความยุติธรรมและความสามารถในการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับความดี[30]
           
               ความแตกต่างสำคัญที่รอลส์เสนอในทฤษฎีนี้คือ “สิ่งพื้นฐาน” (primary goods) คือสิ่งที่ถูกสันนิษฐานว่าวิญญูชน (reasonable man) ต้องการ ได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ โอกาสและอำนาจ รายได้และความมั่งคั่ง[31]   ซึ่งประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์ และ “สิ่งรองลงมา” (secondary goods)  คือสิ่งที่เกิดจากมโนทัศน์ปัจเจกบุคคลเกี่ยวกับอะไรคือชีวิตที่ดี ขึ้นอยู่พฤติการณ์แวดล้อมแต่ละคนของประชาชน  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ารอลส์ต้องการที่จะให้มีการเพิ่มผลประโยชน์ของทุกคนตามวิธีการที่เขาอธิบายโดยให้ความสำคัญกับสิทธิเหนือกว่าความดี[32]
           
               ในช่วงเวลาที่รอลส์ เขียน A Theory of Justice ทฤษฎีด้านเสรีนิยมเกี่ยวกับความยุติธรรมที่มีอิทธิพลในขณะนั้นคือทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) แม้ว่าจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ไว้หลากหลาย แต่รอลส์กล่าวถึงความคิดหลักของทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมสรุปสาระสำคัญได้ว่าความคิดหลักคือว่าสังคมถูกจัดระเบียบอย่างถูกต้อง และดังนั้นจึงมีความยุติธรรม  เมื่อสถาบันหลักของสังคมถูกจัดการเพื่อให้บรรลุความสมดุลสูงสุดของความพึงพอใจที่รวมเอาปัจเจกบุคคลทั้งหมดที่เป็นเจ้าของสถาบันนั้นไว้ด้วยกัน[33]    แม้ว่าทฤษฎีของรอลส์มีฐานความคิดมาจากปรัชญาทางสังคมและศีลธรรม แต่ก็เป็นผลงานที่ริเริ่มขึ้นมาจากแนวคิดของรอลส์เอง โดยอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาการพัฒนาความสมัยใหม่ในทุกสาขาของปรัชญา และมีความเกี่ยวข้องกับตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ จิตวิทยา[34]
     
          ข้อถกเถียงระหว่างอรรถประโยชน์และทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์มุ่งเน้นสององค์ประกอบเกี่ยวกับแนวทางพื้นฐาน (a) การตีความเกี่ยวกับความไม่ลำเอียงในสิ่งที่ทุกคนพิจารณาว่าผลประโยชน์นั้นถูกพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน และ (b) การตีความเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่นำมาใช้เท่าเทียมกันกับทุกคน[35]
             
                รอลส์โต้แย้งทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมทั้งสองรูปแบบ  แบบแรกคือแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมแบบคลาสสิค (classical version) เขาเข้าใจว่าแนวคิดนี้ถือว่าสังคมถูกจัดระเบียบอย่างถูกต้อง และจึงมีความยุติธรรม เมื่อสถาบันหลักมีการจัดการเพื่อให้บรรลุจุดสมดุลของความพึงพอใจสูงสุดที่เป็นผลรวมทั้งหมดที่ปัจเจกบุคคลเป็นเจ้าของตามแนวคิดของรอลส์   อรรถประโยชน์นิยมแบบคลาสสิคนิยามความดีเป็นอิสระจากสิทธิ และนิยามสิทธิเป็นการสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับความดี  สำหรับแบบที่สองคือหลักการของอรรถประโยชน์โดยเฉลี่ย (average utility) เขาเห็นว่าเป็นการชี้นำสังคมมิให้สร้างมูลค่าสูงสุดทั้งหมด แต่เป็นผลประโยชน์โดยเฉลี่ย[36]  ซึ่งแนวคิดทั้งสองแบบของอรรถประโยชน์นิยมนี้  รอลส์ให้ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งว่าในแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมแบบคลาสสิคโดยเนื้อแท้แล้วไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายความพึงพอใจ (distribution of satisfaction)[37] ซึ่งโดยหลักการแล้ว การสูญเสียของกลุ่มคนบางกลุ่มมักจะถูกให้น้ำหนักกับผลประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง[38]  รอลส์เห็นว่าอรรถประโยชน์นิยมแบบคลาสสิคมีทรรศนะเกี่ยวกับการร่วมมือทางสังคมเป็นผลจากการขยายไปถึงสังคมซึ่งเป็นหลักการทางเลือกสำหรับปัจเจกบุคคลที่จะรวมตัวกันทั้งหมดไปสู่หนึ่งเดียวกันด้วยการกระทำในเชิงจินตนาการของผู้ชมที่มีความเห็นอกเห็นใจอย่างไม่เข้าข้างฝ่ายใด ในประเด็นดังกล่าวนี้ รอลส์จึงอ้างว่าอรรถประโยชน์นิยมแบบคลาสสิคไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างจริงจัง


[1]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p. 24.
[2] West, An Introduction to Mill’s Utilitarian Ethics, p. 23.
[3] West, An Introduction to Mill’s Utilitarian Ethics, p. 24.
[4]โธมัส  ฮ็อบส์, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 2 , หน้า 90.
[5]โธมัส  ฮ็อบส์, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 2 , หน้า 98.
[6]โธมัส  ฮ็อบส์, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 2,  หน้า 106.
[7]Jeremy Bentham, An Introduction to the Principles of Morals and Legislation, p. 158, cited in โธมัส  ฮ็อบส์, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 2,  หน้า 110.
[8]Jeremy Bentham, Of Laws is General, ed. By H.L.A. Hart (London: Athlone Press, 1970) chap. VI, p. 54 cited in Lyons, “Normal Law, Nearly Just Societies, and Other Myths of Legal Theory,” Law and the Public Interest,   p. 14.
[9]Scarre, Utilitarianism, p. 74-75.
[10]ภาษาอังกฤษต้นฉบับ  "people do actually desire it." อ้างใน Powers, “On the Priority of Justice,” p. 5.
[11]Scarre, Utilitarianism, p. 96.
[12] Scarre, Utilitarianism, p. 96
[13] West, An Introduction to Mill’s Utilitarian Ethics, p. 77.
[14]Scarre, Utilitarianism, p. 102.
[15]Sagoff, Book Review “Limit on Justice,” p. 20.
[16]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p. 25.
[17]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p. 5.
[18]Dworkin, “Rawls and the Law,” p. 1 
[19] Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p. 15.
[20]คำนี้ รอลส์ ใช้ใน The Law of Peoples (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1999), pp. 4, 5-6, 11-12 cited in Freeman, The Cambridge Companion to Rawls, p.2.
[21]Freeman, The Cambridge Companion to Rawls, p.2.
[22]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p. 29.
[23]โธมัส  ฮ็อบส์, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 2,  หน้า 108.
[24]Korobkin, “Political  Justification and the Law,” p. 3.
[25]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p.41.
[26]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p.41.
[27]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p.41.
[28] Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p.42-43.
[29] Freeman, The Cambridge Companion to Rawls, p. 5.
[30] สรุปจาก Freeman, The Cambridge Companion to Rawls, p. 5.
[31]Sandel, Liberalism and the Limits of Justice, p. 25.
[32] Cropp, “The Social Utility of  Rawls' Theory of Justice  Can It Help Us to Avoid Unjust Systems?,” UCL Jurisprudence Review, pp. 3-4.
[33]Talisse, On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification, p.24.
[34]Rawls, Theory of Justice,  p. 1
[35]Fishkin,  “Book Review : Justice Versus Utility,” p. 2.
[36]สรุปจาก Freeman, The Cambridge Companion to Rawls,  p. 428.
[37] Freeman, The Cambridge Companion to Rawls,  p. 429.
[38] Freeman, The Cambridge Companion to Rawls,  p. 429.

บรรณานุกรม

 
โธมัส  ฮ็อบส์, ประวัติปรัชญาการเมือง เล่มที่ 2, บรรณาธิการโดยลีโอ สเตร๊าส์และโจเซฟ คร็อบซี่ย์, แปล            โดย สมบัติ จันทรวงศ์. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2551.


Berger, F. R. “John Stuart Mill on  Justice and Fairness” in Mill’s Utilitarianism, edited by David          New York and Oxford: Rowman & Littlefield Publishers, Inc, 1997.

Black,  Henry C. Black’s Law Dictionary Sixth edition. 2nd Reprint. Minn: West Publishing Co.,           1990.

Cropp, Nicholas.  “The Social Utility of  Rawls' Theory of Justice  Can It Help Us to Avoid Unjust       Systems?,” UCL Jurisprudence Review, 1998.

Dworkin, Ronald.  “Symposium: Rawls and the Law,” Fordham Law Review,  April, 2004.

Fishkin, James S. Book Review : Justice Versus Utility Utilitarianism and Beyond. Edited     by Amartya Sen and Bernard Williams. England: Cambridge            University Press,          1984.

Korobkin, Donald R. “Political  Justification and the Law,”  Columbia Law Review, 1994.

Lyons, “Normal Law, Nearly Just Societies, and Other Myths of Legal Theory,” Law and the           Public Interest. Edited by, 1993. by Roger Brownsword. Germany: Franz Steiner        Verlag Stuttgart, 1993.

Powers, William.  “On the Priority of Justice,” Texas Law Review, 1985.

Rawls, John.  “A Theory of Justice”,  Harvard Law Review, Cambridge: Harvard University    Press. June, 1972.

Sandel, Michael J. Liberalism and the Limits of Justice. Second Edition.  United Kingdom:   Cambridge University Press, 1998.

Scarre, Geoffrey. Utilitarianism. London and New York: Routledge, 1996.  

Talisse, Robert B. On Rawls A Liberal Theory of Justice and Justification. USA: Wadsworth,           2001.  

West, Henry R. An Introduction to Mill’s Utilitarian Ethics. UK and USA: Cambridge University           Press, 2004.

Whitmore, Harry. Principles of Australian Administrative Law, 5th ed. Sydney: Law Book, 1980.
                            ---------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น