วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

การอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร : ปัญหากรณีการขายพ่วง

จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากกว่าในสมัยก่อน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต่างก็มุ่งแข่งขันกันอย่างเข้มข้นโดยต่างได้พัฒนาเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการประกอบธุรกิจของตนเพื่อให้เกิดความได้เปรียบผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ โดยเทคโนโลยีหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ สิทธิบัตร โดยปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในลักษณะของบริษัทหรือองค์กรธุรกิจได้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรเหนือสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการประดิษฐ์ในสาขาความรู้เฉพาะด้านไว้เป็นจำนวนมาก[1] เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท Microsoft มีการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรค้างไว้อีกเป็นจำนวนมหาศาล จึงอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันสิทธิบัตรนั้นมีความสำคัญอย่างมากในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ
       นอกจากนั้นในปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการพิจารณาจากผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถค้าขายได้ (Tradeable Asset) มากกว่าเป็นเพียงแค่สิทธิรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่เหนือการประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นผู้ทรงสิทธิเหนือสิทธิบัตร จึงมีแนวคิดที่จะแสวงหาประโยชน์จากสิทธิบัตรที่ตนถือครองอยู่ โดยวิธีการหนึ่งที่มักนำมาใช้คือ การแสวงหาประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ [2]
       การอนุญาตให้ใช้สิทธินี้ในเบื้องต้นหากพิจารณาในด้านของการค้าและการลงทุนในทางการค้าระหว่างประเทศแล้วถือว่าการอนุญาตให้ใช้สิทธิจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าสู่ตลาดในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วโดยมีความเสี่ยงในด้านการลงทุนและด้านกฎหมายที่น้อยกว่าการเข้าไปประกอบธุรกิจด้วยตนเองหรือโดยวิธีการร่วมทุนในลักษณะของกิจการร่วมค้าในประเทศดังกล่าว[3] นอกจากนั้นหากพิจารณาถึงประโยชน์ที่มีระหว่างคู่สัญญาแล้ว  ในด้านของผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิก็ยังสามารถที่จะนำเทคโนโลยีที่ได้รับจากการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้นใช้ไปในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของตนได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงมีการแสวงหาประโยชน์จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิมากขึ้นกว่าในอดีต[4]  โดยเฉพาะการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตร (Patent Licensing) ซึ่งมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้นและพัฒนาไปสู่การอนุญาตให้ใช้สิทธิข้ามชาติมากยิ่งขึ้นด้วย
         การอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรนี้อาจจำแนกตามลักษณะของคู่สัญญาที่มาทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การทำความตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรในแนวนอน (Horizontal Arrangements) และการทำความตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรในแนวดิ่ง (Vertical Arrangements)


[1][1] โดยมีผู้เรียกลักษณะของการถือครองสิทธิบัตรในลักษณะเช่นนี้ว่า Patent Portfolio โปรดดู Gideon Parchomovsky & R. Polk Wagner, Patent Portforios, 154 PA. L. Rev. 1, 17 (2005) อ้างไว้ใน Bhattacharyya, Somnath., U.S. Philips Corp. v. International Trade Commission: Seeking a Better Tie Between Antitrust Law and Package Licensing, Columbia Journal of Law and Social Problems, 2007, p.290-291.
[1][2] Bhattacharyya, Somnath., U.S. Philips Corp. v. International Trade Commission: Seeking a Better Tie Between Antitrust Law and Package Licensing, Columbia Journal of Law and Social Problems, 2007, p.268-269.
[1][3] A Basic Guide to Exporting – Technology Licensing/Joint Ventures http://www.unzco.com/basicguide/c6.html
[1][4] Curley, Duncan., Intellectual Property Licences and Technology Transfer: A Practical Guide to the New European Licensing Regime, Oxford, England: Chandos Publishing, 2004, p.6.